ฤกษ์ออกรถ ปี 2564
ตั้งแต่ครั้งโบราณมาคนไทยมีความเชื่อว่าหากจะกระทำการใดให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จได้นั้น การหาฤกษ์ยามที่ดี คือสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างบ้านปลูกเรือน การขึ้นบ้านใหม่ การคลอดลูก รวมทั้งงานมงคลสมรสถือได้ว่าเรื่องของฤกษ์ยามนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมของคนไทยมาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว
ในส่วนของการหาฤกษ์ยามสำหรับการออกรถก็เช่นกัน การถือฤกษ์งามยามดี หรือวันดี เวลาดี ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่เป็นศิริมงคลกับผู้ครอบครอง
ปี 2564 ควรออกรถวันไหน ?
ในตำราโหราศาสตร์ฤกษ์ออกรถ จะแนะนำหรือห้ามออกรถในวันใดนั้น จะพิจารณาร่วมกับ ลักษณะความเป็นอยู่ ของดาวประจำวันนั้น ๆ สรุปดังนี้
ไม่ควรซื้อรถวันอาทิตย์
โบราณท่านว่า ใครซื้อรถในวันอาทิตย์ จะทำให้มีเรื่องร้อนใจหรือต้องเดือดร้อนมาก ท่านแนะนำว่า ให้รีบขายไปเสียเพราะการซื้อรถหรือยานพาหนะในวันอาทิตย์มักเกิดเรื่องไม่ดีเลย
ควรซื้อรถวันจันทร์
ตามตำราท่านว่า ใครซื้อรถวันจันทร์มักโชคดีได้ลาภอยู่เสมอ ทำธุรกิจหรือค้าขายมีกำไรมากบางครั้งมีลาภลอยมาหาอย่างนึกไม่ถึง
ไม่ควรซื้อรถวันอังคาร
ในตำราโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันอังคารมักจะมีเรื่องเดือดร้อน ทำให้เป็นทุกข์มีปัญหาทำให้เสียเงินทอง บางรายประสบอุบัติเหตุอย่างร้ายแรง ก็ปรากฏให้เห็นบ่อย
ไม่ควรซื้อรถวันพุธ
เป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายว่า ใครที่ซื้อรถวันพุธมักจะมีปัญหาต่าง ๆ จนต้องเป็นหนี้สินเขาตลอดด้วยเหตุนี้เองท่านจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อรถหรือจองรถในวันพุธ
ไม่ควรซื้อรถวันพฤหัสบดี
โบราณท่านว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันครูจะทำให้ธุรกิจ หรือการค้าขายเกิดมีปัญหา มีอุปสรรคไม่คล่องตัวอย่างแต่ก่อน และที่สำคัญอาจเกิดเรื่องไม่สบายใจ
ควรซื้อรถวันศุกร์
ตามตำราโหราศาสตร์ไทยท่านว่า ใครที่ซื้อรถหรือยานพาหนะในวันศุกร์ มักมีโชค มีลาภอยู่เสมอ ทำการอะไรก็สะดวกอย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะ จะมีลาภและยศกำลังรอท่านอยู่
ไม่ควรซื้อรถวันเสาร์
ตามตำราโหราศาสตร์ไทยท่านว่า ใครที่ซื้อรถวันเสาร์ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุถึงกับชีวิตได้ด้วยเหตุนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมันก่อน จึงมักห้ามลูกหลานไม่ให้ซื้อรถและเรือในวันนี้เพาะความเชื่อดังกล่าว
ไม่ควรซื้อรถวันพระ
เป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ไม่ให้ซื้อรถซื้อเรือในวันพระ เพราะอาจจะทำให้ไม่สบายหรือล้มป่วยได้ ศัตรูหรือคู่แข่งจะพากันอิจฉาและอาฆาต
เข้าใจว่าเป็นกุศโลบาย เกี่ยวกับการเลี่ยงวันมงคลที่ตรงกับวันพระ ให้คนได้เข้าวัดทำบุญ เพราะไม่ต้องวุ่นอยู่กับการออกรถ หรือการมงคลที่จะมี เพราะสมัยก่อนการมงคลจะเตรียมการ ใช้เวลาและคนหรือชาวบ้านร่วมช่วยงานจำนวนมาก ถ้าไปช่วยงานกันหมดก็จะไม่มีใครไปวัดในวันพระ อีกอย่างคือพระก็ไม่ต้องรับกิจนิมนต์ ได้ทำวัตรสวดมนต์ หรืออยู่ที่วัดในช่วงวันพระด้วย
วันที่ควรซื้อรถหรือยานพาหนะมี 2 วันคือ วันจันทร์ และ วันศุกร์ เท่านั้น สำหรับท่านที่เกิด วันอาทิตย์ วันที่ควรซื้อรถหรือจองรถมีเพียงวันเดียว คือวันจันทร์ (ส่วนวันศุกร์นั้นเป็นวันกาลกิณีของคนที่เกิดวันอาทิตย์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ย่อมไร้ผลให้หลีกเลี่ยงเสีย) ส่วนคนที่เกิด วันอังคาร วันที่ควรซื้อรถหรือจองรถมีเพียงวันเดียว คือ วันศุกร์ (ส่วนวันจันทร์นั้นเป็นวันกาลกิณีของคนที่เกิดวันอังคาร ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ย่อมไร้ผลให้หลีกเลี่ยงเสีย)
วันในการออกรถ
ข้างต้นพูดถึงวันไปแล้วว่าวันใด ควรหรือไม่ควรออกรถ ในมุมมอง ลักษณะความเป็นอยู่ ความเป็นมงคลของดาวประจำวัน เมื่อทราบแล้ว มาดูการพิจารณาเงื่อนไขหาวันที่ดีและเหมาะสมอีกข้อ ก็คือ ห้ามใช้วันที่เป็น วันกาลกิณี กับวันเกิดของเจ้าของรถ ซึ่งมีหลักพิจารณา ตามภูมิทักษาของแต่ละวันเกิด ดังนี้
คนเกิดวันอาทิตย์ ห้ามใช้ฤกษ์วันศุกร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันจันทร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันอาทิตย์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันอังคาร ห้ามใช้ฤกษ์วันจันทร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพุธ(กลางวัน) ห้ามใช้ฤกษ์วันอังคาร ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพุธ(กลางคืน) ห้ามใช้ฤกษ์วันพฤหัสบดี ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันพฤหัสบดี ห้ามใช้ฤกษ์วันเสาร์ ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันศุกร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันพุธ(กลางคืน) ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
คนเกิดวันเสาร์ ห้ามใช้ฤกษ์วันพุธ(กลางวัน) ต่อให้ฤกษ์ดีอย่างไรก็ไร้ผล ควรหลีกเลี่ยง
วันที่ออกรถ คือวันแรกที่ขับรถออกจากศูนย์ หรือเต้นท์ขับไปใช้จริง ๆ เริ่มต้นใช้จริงในทางพฤตินัย ไม่ได้หมายถึง ทดลองขับหรือ วันเปลี่ยนเจ้าของในทางทางนิตินัย เพราะการซื้อระยะผ่อนอาจยาวนาน 4-5 ปี กว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งระหว่างใช้รถนั้นอยู่อาจเกิดเหตุก็ได้ จึงนับวันที่ขับไปใช้จริง ๆ ตั้งต้น
เวลาที่ควรนำรถออกจากโชว์รูมหรือเต็นท์
วันอาทิตย์
ควรนำรถออกเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น.(อาทิตย์ สี่ศูนย์ ฤกษ์ดีมาก) แและช่วงเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. (อาทิตย์ สองศูนย์ ให้โชคลาภ)
วันจันทร์
ควรนำรถออกเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น. (จันทร์ สี่ศูนย์ ฤกษ์ดี)และช่วงเวลา 15.37 น. ถึง 18.00 น. (จันทร์ สองศูนย์ ให้ลาภและมีเสน่ห์)
วันอังคาร
ควรนำรถออกเวลา 10.49 น. ถึง 13.12 น. (อังคาร สี่ศูนย์ ฤกษ์ใช้ได้)และช่วงเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น (อังคาร สองศูนย์ ช่วงเวลานี้พอใช้ได้)
วันพุธ
ควรนำรถออกเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. (พุธ สี่ศูนย์ ฤกษ์ปานกลาง)และช่วงเวลา 08.25 น. ถึง 10.48 น. (พุธ สองศูนย์ มีโอกาสได้ลาภ)
วันพฤหัสบดี
ควรนำรถออกเวลา 15.37 น. ถึง 18.00 น.(พฤหัสบดี สี่ศูนย์ มีโชคลาภ)และช่วงเวลา 10.49 น. ถึง 13.12 น. (พฤหัสบดี สองศูนย์ ฤกษ์ปลอดภัย)
วันศุกร์
ควรนำรถออกเวลา 06.01 น. ถึง 08.24 น. (ศุกร์ สี่ศูนย์ ฤกษ์ดีมาก)และช่วงเวลา 13.13 น. ถึง 15.36 น. (ศุกร์ สองศูนย์ ให้โชคลาภ)
วันเสาร์
ตามหลักโหราศาสตร์ ถือเป็นวันดุ หรือวันแรงโบราณ ท่านว่าห้ามนำรถ หรือยานพาหนะออกจากเต้นท์ หรือจากอู่ ควรหลีกเลี่ยง , ดู ยามอุบากอง
รายละเอียดข้างต้นเป็นกฏเกณฑ์แต่โบราณ ถ้ายึดถือได้ไม่ยุ่งยากเกินไปก็ให้ทำครับ หรืออีกแนวทางนึงที่ผมเองใช้เป็นประจำ หรือแนะนำใครก็ตามที่จะออกรถ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อนทำได้ด้วยตัวเอง เพราะถือว่าจะดี จะร้ายดวงคน หรือกรรมสำคัญกว่า ตรงนี้เสริมเพื่อความเป็นมงคลและเป็นกำลังใจที่ดี ผมขอเขียนเป็นหัวข้อหลัก ๆ สรุป ดังนี้
สีรถดี
เลี่ยงสีภูมิกาลกิณี อย่างเดียว สีที่เหลือใช้ได้หมด , ดู สีรถที่ถูกโฉลกกับวันเกิด
วันออกรถดี
ดูตามปฏิทินฤกษ์ช่วงวันเดือน ปี 2564 ฤกษ์ออกรถ มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ดูปฏิทินวันที่เป็น ดิถีมหาโชค วันกาลโยค วันลอย วันฟู หรือ ฤกษ์บน และให้ หลีกเลี่ยง วันแรง เช่น กระทิงวัน (วันเดือนปี ค่ำ เป็นเลขเดียวกัน เช่น วันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓) , และ ขึ้นแรม ๘ ค่ำ ดิถีอัคนิโรธ ลงรถ , หลีกเลี่ยง วันเสาร์ , วันอาทิตย์ , วันอังคาร และ วันพุธ
การเลือกแบบนี้เป็นแบบเดียวกับดูฤกษ์วันดี วันแต่งงาน หรือวันมงคลปรกติ แต่มีเงื่อนไขต่างกันบ้าง การใช้ฤกษ์บนเป็นเรื่องยุ่งยากมักใช้ในการสำคัญ ๆ เท่านั้น จึงนิยมใช้ใช้ดิถีจันทร์หรือฤกษ์ล่างเป็นส่วนใหญ่ เพราะดูค่ำแรม จะสะดวกกว่า หรืออาจดูประกอบด้วยก็ได้ , ดูฤกษ์ออกรถ โดยนักพยากรณ์มืออาชีพ รายละเอียด
เวลาดี
เมื่อได้วันดีแล้วก็ดูเวลาดี จะยึดถือตาม ยามอุบากองก็ได้ เพราะสะดวกดูง่าย ซึ่งรายละเอียดเวลาที่ควรนำรถออกจากโชว์รูมหรือเต้นซ์ ด้านบน เช่น
วันศุกร์ ยามอุบากอง ช่วงเวลาตั้งแต่ 06.01 น. ถึง 08.24 น. เป็น สี่ศูนย์ ( สี่ศูนย์ : จะพูนผล แม้จรดลดีหนักหนา มีลาภล้นคณนา เร่งยาตราจะมีชัย) เลือกช่วงเวลา ที่นาทีลงท้าย ด้วยเลข 9 เช่น 06.09 น. ,06.19 น. , 06.59 น. ... 08.19 น. เป็นต้น , ดู ยามอุบากอง
เรื่องเวลาแนะนำอีกนิดครับ ตำรากำหนดช่วงเวลาไว้ ปัจจุบันให้พิจารณาอีกอย่างครับ เรื่องการจราจร เช่น วันศุกร์ ยามอุบากองบอก ช่วงเวลาตั้งแต่ 06.01 น. ถึง 08.24 น. ถ้าเลือกนัดเวลาได้เลือก เช้าที่สุด เพราะถ้าเลือกช่วง ใกล้ ๆ 8 โมงเช้า โดยเฉพาะใน กรุงเทพฯ อาจรถติดหรือการจราจรคับคั่งเกินไป มือใหม่ หรือรถยังไม่คุ้นมืออาจทำให้ประหม่า ช่วงเวลาอื่น ๆ วันอื่น ๆ เลือกตามเหมาะสมครับ
ดูทิศทางที่ดี
ในที่นี้หมายถึง หลีกเลี่ยง ทิศผีหลวง ทิศหลาวเหล็ก ของวันนั้น ๆ ก่อนออกให้จอดรถตั้งตรงไปทาง ทิศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ทิศผีหลวง ทิศหลาวเหล็ก ของวันนั้น ๆ ก่อน มักเลือกทิศเหนือ และตะวันออก แล้วค่อยขับรถออก หรือขับเลี่ยงไปก่อนค่อยไปยังทางออก
การดู ทิศผีหลวง ทิศหลาวเหล็ก นี้คนโบราณยึดถือกันมาก ใช้เช่นเดียวกันกับ ทิศทางการตั้งขบวนขันหมาก ตั้งหัวขันหมาก ทิศทางการออกจากวัดหลังลาสิกขาบท การนั่งหันหน้าในวงพนัน ทิศทางการปล่อยไก่ชนไก่ ทิศทางที่นักมวยก้าวเข้าสังเวียนหรือก้าวย่ำเท้าออกจากมุม และอื่น ๆ ...
วันอาทิตย์
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือและ ตะวันตกให้ใช้ทิศเหนือ ,ทิศตะวันออก หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันจันทร์
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ตะวันออก ให้ใช้ทิศเหนือ หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันอังคาร
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ และ เหนือ ให้ใช้ทิศตะวันออก หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันพุธ
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ เหนือ ให้ใช้ทิศตะวันออก หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันพฤหัสบดี
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ทิศใต้ ให้ใช้ทิศเหนือ ,ทิศตะวันออก หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันศุกร์
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ตะวันตก ให้ใช้ทิศเหนือ ,ทิศตะวันออก หรือทิศอื่น ๆ แทน
วันเสาร์
ผีหลวง หลาวเหล็ก อยู่ทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ และ ตะวันออก ให้ใช้ทิศเหนือ หรือทิศอื่น ๆ แทน
การเลือกทิศผีหลวง หลาวเหล็ก โบราณมักแนะนำให้ใช้ทิศ ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น เหนือ , ตะวันออก(ออก) ความหมายเป็นเชิงบวก ไม่นิยมใช้ทิศ ใต้ , ตะวันตก(ตก) ความหมายเป็นเชิงลบ , ดู ทิศผีหลวง ทิศหลาวเหล็ก
ในวันที่ออกรถ ผมจะเตรียมพระพุทธรูปเล็ก ๆ ที่พอจะวางหรือเก็บไว้ประจำรถได้ 1 องค์ อาจพระเครื่อง พระเหรียญก็ได้ พร้อมพวงมาลัยดอกไม้ 3 พวง อาจมีธูปเที่ยนด้วยก็ได้ พวงมาลัยพวงแรกผมจะใช้ไหว้พระ และเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ศูนย์รถหรือเต้นท์รถนั้น ๆ ก่อนออกรถ บอกกล่าวขอพร ขอฤกษ์ขอชัย ขอศิริมงคล ,
พวงมาลัยพวงที่สอง และ พระพุทธรูป วางที่รถ ไหว้พระ บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรถ เพราะรถก็เหมือนเกวียน เหมือนเรือ ที่โบราณเชื่อว่ามีแม่ย่านางหรือเทวดาดูแลอยู่ เมื่อได้เวลาออกรถ สตาร์ตรถ ก่อนออกรถตั้งสติตั้งสมาธิให้ดี บีบแตร 3 ครั้ง แล้วขับรถตามทิศทางที่เลือกไว้
ส่วนพวงมาลัยพวงที่ 3 ผมจะใช้ไหว้พระ และบอกกล่าว ขอพร ขอฤกษ์ขอชัย ขอศิริมงคล เจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน หรือที่ที่รถจะไปอยู่ประจำ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นในส่วนของออกรถ ตรงนี้เป็นความเชื่อเป็นศิริมงคลครับ บางท่านอาจคิดว่างมงาย เป็นเรื่องของความเชื่อครับ เละความเชื่อตรงนี้ ไม่ทำร้าย ให้ร้ายใคร ต้องบุกน้ำลุยไฟหรือยุ่งยากลำบากจนเกินไป การไหว้พระการบูชาด้วยดอกไม้เป็นสิ่งที่เป็นมงคล ถ้าไม่ติดขัดอะไรผมแนะนำให้ทำครับ
ส่วนเรื่องสายสิญจ์ผูกพวงมาลัยรถ ผูกรถ หรือแป้งเจิมรถ ถ้าไม่สะดวกให้พระที่นับถือ หรือผู้ใหญ่ที่นับถือผูกให้ ก็ให้คุณพ่อคุณแม่ผูกให้ก็ได้ครับ การที่ลูกมีรถใหม่ มีความเจริญก้าวหน้า ความยินดี ภูมิใจปลื้มใจของพ่อแม่ เป็นพรที่ดีเป็นศิริมงคลที่สุดสำหรับลูกแล้วครับ ...
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : จักรกฤษณ์ แร่ทอง - มายโหรา.คอม
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น